FED:คาดเฟดตรึงดบ.พุธนี้,เฟดอาจระบุตามเดิมว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยุ่สูง
วอชิงตัน--30 เม.ย.--รอยเตอร์
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. และจะประกาศผลการประชุมออกมาในเวลา 01.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ค.ตามเวลาไทย ในขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะจัดงานแถลงข่าวในเวลา 01.30 น.ของวันที่ 2 พ.ค.ตามเวลาไทย โดยนักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังแถลงการณ์นโยบายของเฟดและถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์หลังการประชุม เพื่อดูว่าเฟดส่งสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้าเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินใด ๆ หรือไม่ ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามเดิมในการประชุมสัปดาห์นี้ และเฟดอาจจะระบุในแถลงการณ์นโยบายว่า อัตราเงินเฟ้อ "ยังคงอยู่ในระดับสูง" เหมือนกับในแถลงการณ์ครั้งก่อน หลังจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเร่งตัวขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ หลังจากที่เคยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 โดยการที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐลดลงได้ยากนี้ จะสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้กำหนดนโยบายของเฟดในการกำหนดขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐกำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.ปีนี้
รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมาในช่วงนี้แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และผู้กำหนดนโยบายบางคนของเฟดก็มองว่าสิ่งนี้ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังก่อนจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยผู้กำหนดนโยบายกลุ่มนี้รวมถึงนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา และนายโธมัส บาร์คิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ โดยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิโหวตในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ในปีนี้ ทั้งนี้ เฟดนิยมใช้ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ และรายงาน PCE ประจำเดือนมี.ค.ก็แสดงให้เห็นว่า รายการสินค้าและบริการที่มีราคาพุ่งขึ้นกว่า 3% ในเดือนมี.ค.ครองสัดส่วนสูงกว่า 50% ของรายการสินค้าและบริการทั้งหมดในดัชนี PCE ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือว่าสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดเป็นอย่างมาก
สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) ในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE แบบเทียบรายปีปรับขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.6% หลังจากปรับขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี โดยเฟดตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ทั้งนี้ นายนาธาน ชีทส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทซิตี้ โกลบัลกล่าวว่า "เฟดเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ในตอนนี้ เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งมาก และเป็นตัวเลขที่ไม่ช่วยให้เฟดมีความมั่นใจแต่อย่างใดว่า อัตรเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ 2% ดังนั้นสิ่งที่เฟดทำได้จึงมีเพียงแค่ต้องรอต่อไป" อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายยังคงคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วงต่อไปในปีนี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ เพียงแต่ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลงอย่างเชื่องช้า
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วง 2-3 เดือนหลังมีแนวโน้มที่จะยังคงส่งผลให้เจ้าหน้าที่เฟดเลื่อนกำหนดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เฟดเคยคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ แต่ถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ในวันที่ 16 เม.ย.บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะไม่ได้คาดการณ์แบบนั้นแล้ว โดยเขาได้กล่าวในวันที่ 16 เม.ย.ว่า "ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในระยะนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้ยว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาชะลอตัวลง" และเขากล่าวเสริมว่า "เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและความคืบหน้าในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เหมาะสมในตอนนี้จึงเป็นการปล่อยให้นโยบายแบบเข้มงวดได้ทำงานเป็นเวลานานยิ่งขึ้น และปล่อยให้ตัวเลขเศรษฐกิจและแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปนำทางเรา" ทางด้านนายไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเจ.พี. มอร์แกนกล่าวว่า "แถลงการณ์หลังการประชุมเฟดสัปดาห์นี้มีแนวโน้มว่าจะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับในแถลงการณ์หลังการประชุมครั้งที่แล้วในเดือนมี.ค." และนายพาวเวลล์ก็มีแนวโน้มที่จะกล่าวย้ำว่า เฟดจะเลื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปตามความจำเป็น แต่เฟดก็พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเวลาที่เร็วขึ้นได้เช่นกัน ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจสนับสนุนให้เฟดทำเช่นนั้น
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือนก.ค. 2023 และได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% มาเป็นเวลานาน 9 เดือนแล้ว ซึ่งถือว่านานกว่า 3 ช่วงจาก 5 ช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยนจากวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเป็นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฏจักร ไปจนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของวัฏจักรนั้น เฟดเคยตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมแบบเดียวกันนี้ 5 ช่วงนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โดยเฟดเคยตรึงอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานาน 5 เดือนในเดือนก.พ.-ก.ค. 1995, ตรึงอัตราดอกเบี้ย 18 เดือนในเดือนมี.ค. 1997 จนถึงเดือนก.ย. 1998, ตรึงอัตราดอกเบี้ย 8 เดือนในเดือนพ.ค. 2000 จนถึงเดือนม.ค. 2001, ตรึงอัตราดอกเบี้ย 15 เดือนในเดือนมิ.ย. 2006 จนถึงเดือนก.ย. 2007 และตรึงอัตราดอกเบี้ย 8 เดือนในเดือนธ.ค. 2018 จนถึงเดือนส.ค. 2019--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;