١٢ مارس ٢٠١٩
ตลาดหลักทรัพย์ไทย ภาวะขายมากเกินหนุนแรงซื้อ แรงขายที่มีออกมาในหุ้นกลุ่มนำตลาด ฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงปิดที่ 1,627.43 จุด ลดลง 2.69 จุด มูลค่าการซื้อขายลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาท สัญญาณทางเทคนิคัลระยะสั้นเริ่มกลับมาเป็นบวก หนุนให้ดัชนีตลาดมีโอกาสปรับตัวขึ้นทางเทคนิคัล แต่ดัชนีตลาดยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลง ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ตลาดหุ้นนิวยอร์กกลับมาเป็นในแดนบวก จากแรงหนุนในหุ้นเทคโนโลยี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัจจัยทางเทคนิค จากกราฟรายวัน ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงเข้าหาแนวรับ 38.2% Fibonacci Retracement ที่ 1,625 จุด หลังดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านของเส้น Multiple Moving Average แบบ Long – Term (MMA2) ระยะสั้นหากดัชนีตลาดไม่สามารถยืนปิดเหนือ 1,624 จุด ดัชนีตลาดจะปรับลดลงเข้าหาแนวรับ 50.0% Fibonacci Retracement ที่ 1,610 จุด โดยมีแนวรับ 61.8% Fibonacci Retracement เป็นแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,595 จุด จากกราฟรายวัน ดัชนีตลาดมีทิศทางปรับตัวลงเป็นคลื่น (ii) หลังดัชนีตลาดจบคลื่น (i) ที่ 1,674 จุด ดัชนีตลาดมีทิศทางปรับตัวลดลงเข้าหาแนวรับ 50.0% และ 61.8% Fibonacci Retracement ที่ 1,610 จุด และ 1,595 จุด ตามลำดับ ตามหลักการ คลื่น (ii) มีโอกาสจบลงที่ 1,595 จุด แต่ต้องปรับตัวไม่ต่ำกว่า 1,546 จุด สัญญาณ Oscillator จากกราฟรายวัน สัญญาณ Modified Stochastic กลับมาเป็นบวกในเขตขายมากเกิน ขณะที่สัญญาณ RSI และ MACD เป็นลบ ทำให้ดัชนีตลาดมีโอกาสปรับตัวขึ้นทางเทคนิคัล แต่ดัชนีตลาดยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงเข้าหาแนวรับที่ 1,610 จุด ทิศทางตลาดหลักทรัพย์ระยะสั้น มีกรอบแนวต้านอยู่ที่ 1,633 – 1,639 จุด และมีกรอบแนวรับอยู่ที่ 1,623 – 1,616 จุด กลยุทธ์การลงทุน ระยะสั้นควรระวังแรงขายที่แนวต้าน 1,644 จุด+/- นักเก็งกำไรควรกลับเข้าซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรเมื่อสัญญาณ Modified Stochastic เกิดสัญญาณเป็นรูป W-shape หรือเมื่อดัชนีตลาดยืนปิดเหนือ 1,641 จุดและมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และสำหรับนักลงทุนควรซื้อหุ้นพื้นฐานไว้ในพอร์ตไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เงินสด 30 เปอร์เซ็นต์